18 มกราคม 2552

หลวงปู่เจียม


ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม (วัดหนองยาว) ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ อัตโนประวัติ ?พระครูอุดมวรเวท? หรือ ?หลวงปู่เจียม อติสโย? พระเกจิชื่อดังเมืองสุรินทร์ เป็นพระที่มีศีลาจารวัตรดีงาม ไม่บกพร่องเสื่อมเสีย ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด กอปรด้วยวิทยาคม มีลูกศิษย์ลูกหามากมายให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก หลวงปู่เจียม มีนามเดิมว่า เจียม นวนสวัสดิ์ (เดือมดำ) เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2454 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 2 ปีกุน สายเลือดกัมพูชา ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านดองรุน ต.ประเตียเนียง อ.มงคลบุรี จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน ท่านเป็นบุตรคนโต
?? ?เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล อ.มงคลบุรี จ.พระตะบอง ศึกษาภาษาเขมรและภาษาฝรั่งเศส ตามหลักสูตรที่รัฐบาลกัมพูชากำหนดไว้ เมื่อเรียนจบในระดับชั้นประถมศึกษา ได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนในจังหวัดพระตะบอง แต่เรียนได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น มีเหตุให้ต้องลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน และได้รับผลกระทบจากสภาวะสงครามภายในประเทศ เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ได้ประกอบอาชีพทำนาและค้าขาย เช่น ค้าข้าว ค้าวัว รวมทั้งเป็นช่างไม้ ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีขึ้น เมื่ออายุ 26 ปี ท่านได้สมรสกับหญิงสาวในหมู่บ้านเดียวกัน มีบุตรธิดารวม 4 คน เนื่องจากขณะนั้นประเทศกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศฝรั่งเศส ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีความรักชาติรักแผ่นดิน ต้องการให้ประเทศชาติเป็นเอกราช จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มชาวเขมรที่รักชาติ จัดตั้งกองกำลังเขมรเสรีเพื่อกอบกู้ประเทศชาติ โดยสู้รบกับทหารฝรั่งเศสอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และต่อมาถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องหลบหนีเข้ามายังเขตประเทศไทย โดยหวังว่าจะรวมตัวกันกลับเข้าไปต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.2485 จึงตัดสินใจอพยพครอบครัว มุ่งหน้าเข้าสู่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ โดยเดินทางมากับพระสงฆ์ชาวเขมรชื่อ พระครูดี ใช้วิธีเดินทางรอนแรมมาเรื่อยๆ ค่ำไหนก็พักนอนที่นั่น แล้วออกตระเวนรับจ้างชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสังขะ เพื่อหาเลี้ยงชีพไปตามอัตภาพ ในที่สุดได้แวะพักที่วัดทักษิณวารี (วัดทักษิณวารีสิริสุข) บ้านลำดวน ต.ลำดวน อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ พร้อมทั้งได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวาง ธัมมโชโต ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนรับใช้หลวงพ่อวางอย่างดียิ่ง จนทำให้บรรดาโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อวาง เกิดความรักความศรัทธา จึงขอเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 47 ปี ๏ การอุปสมบท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2501 ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดทักษิณวารี ต.ลำดวน อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ โดยมีหลวงพ่อวาง ธัมมโชโต เกจิดังเรืองวิทยาคม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า ?อติสโย? ๏ ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวาง-หลวงพ่อเปราะ หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านสมัครใจอยู่จำพรรษา ณ วัดทักษิณวารี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกวิปัสนากัมมัฏฐาน เรียนภาษาไทย และปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อวาง ธัมมโชโต จนเป็นที่ยอมรับ พร้อมกับฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขอรับการถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆ อาทิ การเสกน้ำมนต์ เขียนแผ่นทอง เป็นต้น รวมทั้ง ในแต่ละพรรษา หลวงปู่เจียมได้มีโอกาสแวะเวียนไปนมัสการหลวงพ่อเปราะ พุทธโชติ วัดสุวรรณรัตนโพธิวนาราม อ.ลำดวน พระเกจิชื่อดัง เพื่อปรนนิบัติรับใช้และได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขอรับถ่ายทอดวิทยาคม อาทิ การเขียนอักขระลงแผ่นทอง ทำตะกรุด วิชาเสริมสิริมงคล ให้อย่างครบถ้วน เพื่อคอยปัดเป่าทุกข์ภัยให้ชาวบ้านในถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีผู้เจ็บป่วยด้วยวิชาไสยศาสตร์มนต์ดำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว ท่านยังวนเวียนออกธุดงค์ไปตามถ้ำและป่าเขาอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายแดนประเทศลาว โดยยึดป่าเขาเป็นสถานศึกษา ได้พบกับพระอาจารย์หลายท่านในระหว่างเดินธุดงค์ ได้สนทนาธรรมและเรียนรู้วิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาจากพระอาจารย์เหล่านั้น เป็นเวลานานถึง 13 ปี แล้วกลับมาเข้าพรรษาที่วัดทักษิณวารี ๏ สร้างวัดอินทราสุการาม (วัดหนองยาว) ภายหลังกลับจากธุดงค์แล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2513 กลุ่มชาวบ้านหนองยาง ได้นิมนต์หลวงปู่เจียม ให้ไปสร้างวัดในพื้นที่บ้านหนองยาว ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เป็นสำนักสงฆ์ ด้วยการสร้างกุฏิเล็กๆ สำหรับการปฏิบัติธรรม โดยหลวงปู่เจียมได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาสำนักสงฆ์แห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ?วัดอินทราสุการาม? ขณะเดียวกัน ท่านก็เผยแผ่พระพุทธศาสนา คอยเทศน์อบรมบรรยายธรรมให้แก่ชาวบ้านหมั่นรักษาศีล และปฏิบัติธรรม ๏ การสร้างวัตถุมงคล ต่อมา หลวงปู่เจียมได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นครั้งแรก เป็น ?ตะกรุดโทน? ลักษณะม้วนแผ่นทองสอดสายยางร้อยกับสายร่ม และผูกห้อยพระแก้วมรกตและเหรียญรูปเหมือน เป็นต้น ปรากฏว่าผู้ที่มีวัตถุมงคลหลวงปู่เจียมไว้ในครอบครอง มีประสบการณ์ปาฏิหาริย์นานัปการ ทำให้มีฝูงชนแห่แหนไปร่วมทำบุญกันอย่างเนื่องแน่น โดยมีชาวบ้านบางส่วนนิยมนำยานพาหนะส่วนตัว ตลอดทั้งรถยนต์โดยสารในท้องถิ่นสุรินทร์ หรือต่างจังหวัด ผูกห้อยตะกรูดโทนของหลวงปู่เจียม เพื่อความเป็นสิริมงคล ขณะเดียวกัน ในแต่ละวันจะมีฝูงชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปกราบขอให้หลวงปู่เจียม เสริมสิริมงคล ถอดถอนคุณไสย ด้วยการอาบน้ำมนต์ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ไปกราบนมัสการขอให้เขียนตะกรุดโทนแขวนคอ ลงเหล็กจารในแผ่นทองกับมือของท่าน เพื่อสวมใส่เป็นขวัญกำลังใจ ในการออกไปรับใช้ชาติในต่างแดน อาทิ เวียดนาม ลาว และเขมร จนได้รับการกล่าวขานเลื่องลือระบือไกล ด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดภยันตราย พ.ศ.2515 หลวงปู่เจียมอนุญาตให้คณะศิษยานุศิษย์ จัดสร้างวัตถุมงคลกริ่งรูปเหมือน รุ่น 1 จำนวน 7,000 องค์ เหรียญรูปเหมือน รุ่น 1 จำนวน 7,000 เหรียญ พร้อมตะกรุดแขวนคอชุดใหญ่ จำนวน 7,000 เส้น พ.ศ.2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมหลวงปู่เจียม ที่วัดอินทราสุการาม เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อสนทนาธรรม ในโอกาสนี้ หลวงปู่เจียมได้ทูลเกล้าฯถวายวัตถุมงคลพระกริ่งรูปเหมือน รุ่นรับเสด็จ ตะกรุด เป็นที่ระลึกด้วย พ.ศ.2546 หลวงปู่เจียมอนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นมูลนิธิอติสโย เป็นวัตถุมงคลหล่อโบราณ รูปเหมือน (เททองในวัด) สรุปรวมวัตถุมงคลทั้งวัดจัดสร้าง ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 50 รุ่น เมื่อรวบรวมปัจจัยได้นำไปสร้างถาวรวัตถุมากมายและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม ๏ สมณศักดิ์ที่ได้รับ พ.ศ.2527 หลวงปู่เจียมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ ?พระครูอุดมวรเวท? ๏ พระนักพัฒนา นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคม ท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ได้ช่วยสร้างวัดที่อำเภอบัวเชด จ.สุรินทร์ 2 แห่ง สร้างสถานีอนามัยที่บ้านหนองยาว มอบครุภัณฑ์ให้โรงพยาบาลสุรินทร์ สร้างศาลาประชาคม 61 แห่ง รวมทั้งสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ๏ การมรณภาพ ย่างเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่เจียมเริ่มมีอาการเหน็ดเหนื่อย สายตาพร่ามัว ประสาทหูฟังไม่ค่อยชัด คณะศิษยานุศิษย์ได้นำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ครั้นเมื่อออกจากโรงพยาบาล หลวงปู่เจียมยังต้องรับกิจนิมนต์จากชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธา เพื่อคอยปัดเป่าทุกข์บำรุงสุขไม่เว้นแต่ละวัน บ้างต้องไปนั่งประพรมน้ำมนต์ เป่ากระหม่อมให้ศิษย์สม่ำเสมอ กระทั่งเมื่อเวลา 16.59 น ของวันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2549 คณะศิษย์วัดอินทราสุการาม ได้ตีระฆังรัวกลองเป็นชุด เพื่อแจ้งเหตุว่า บัดนี้ชาวเมืองสุรินทร์ได้สูญเสียปูชนียสงฆ์รูปสำคัญ คือ หลวงปู่เจียมได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคไตวาย ภายในกุฏิวัดอินทราสุการาม หลังเข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการอาพาธจากโรคไตมาเป็นเวลานาน ประกอบกับวัยที่ชราภาพมาก สิริอายุรวม 96 พรรษา 47 ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านที่เคารพนับถือเป็นยิ่งนัก คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์รวมไปถึงชาวบ้านได้นำร่างหลวงปู่บรรจุไว้ในโลงแก้ว ตั้งไว้ ณ ศาลาการเปรียญวัดอินทราสุการาม เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้รำลึกถึงคุณงามความดี สำหรับกำหนดการเบื้องต้น จะมีการบรรจุศพหลวงปู่เจียมที่วัดอินทราสุการาม เป็นเวลา 15 วัน เพื่อให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้ร่วมบำเพ็ญกุศลโดยทั่วกัน ............ คัดลอกมาจาก :: 1. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5764 2. หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก คอลัมน์ พระเครื่อง คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2549
ภาพถ่ายถ่ายจากของจริง ตอนนี้มี 5 เส้น รวมทั้งตระกุดโทนด้วย
อ้างอิง : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10717